ล่าสุด

ลิงค์ที่เป็นมิตร

เปิดชื่อ 5 อุตฯเด่นอานิสงส์แรงได้ไปต่อ ส่วนอีก 3 อุตฯนี้ ยังต้องออกแรงเหนื่อยหน่อย!!

2025-02-10     HaiPress

สศอ. เปิด 5 อุตสาหกรรมเด่น ปี 68 อาหาร-เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์จากการกลั่นปิโตรเลียม บรรจุภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ไปได้สวย อานิสงส์จากเทรนด์ธุรกิจรอบด้านทั้งการบริโภค การลงทุน การค้าโลก พร้อมเร่งปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยก้าวทันเทรนด์ธุรกิจยุคใหม่

นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยว่า ในปี 2568 อุตสาหกรรมเด่นที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ประกอบด้วย

1.อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น โครงการแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 2 โครงการ Easy E-Receipt 2.0 รวมถึงการท่องเที่ยวที่โตต่อเนื่องตามการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) และกระแส Soft Power คาดว่าจะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไม่น้อยกว่าแสนล้านบาท ช่วยกระตุ้นธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกในประเทศ ประกอบกับผู้บริโภคในปัจจุบันมุ่งเน้นการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน (Wellness) ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อาหารอนาคต (Future Food) ทั้งอาหารทางการแพทย์ อาหารที่มีคุณสมบัติเฉพาะรายบุคคล (Personalized Foods) ในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ควบคุมน้ำหนักมีความต้องการเพิ่มขึ้น ตลอดจนประเทศไทยยังเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกหลายรายการ เช่น ไก่แปรรูป ปลาทูน่ากระป๋อง และ อาหารสัตว์สำเร็จรูป ช่วยให้การผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

2.ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้รับอานิสงส์จากการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องและธุรกิจโลจิสติกส์ ซึ่งเน้นการจัดส่งสินค้าหรือการให้บริการ Delivery ที่ขยายตัวตามธุรกิจ E-Commerce เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น

3.อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ หลากหลายรูปแบบ เช่น พลาสติก กระดาษ และโลหะที่จำเป็นต้องใช้ในกระบวนการผลิตนับตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

4.การผลิตเครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้าและตู้เย็น ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวตามการเติบโตของสังคมเมือง สะท้อนจากการจำหน่ายในประเทศและมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับประเทศไทยได้แต้มต่อจากการเป็นฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าสัญชาติเกาหลีและญี่ปุ่น ซึ่งมาตรฐานของสินค้าได้รับการยอมรับระดับโลก

5.อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDD) ได้แรงหนุนจากการค้าผ่านช่องทาง Social Commerce และการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ผ่าน Digital Wallet ที่ได้รับความนิยมทั่วโลก ควบคู่ไปกับการก้าวหน้าของเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ที่จำเป็นต้องนำเทคโนโลยี Cloud Computing เข้ามาใช้ประมวลผล จัดเก็บ และบริหารข้อมูล สะท้อนได้จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เผยยอดมูลค่าการลงทุนอุตสาหกรรมดิจิทัลในปีที่ผ่านมาสูงถึง 2.4 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกิจการ Data Center และ Cloud Service ทำให้การผลิตฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ (HDD) เพิ่มขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากเซิร์ฟเวอร์กว่า 75% จำเป็นต้องใช้ HDD ในการเก็บข้อมูลปริมาณมาก รวมถึง 80% HDD ทั้งโลกผลิตในไทย

ส่วน อุตสาหกรรมรถยนต์สันดาป (ICE) วัสดุก่อสร้าง และ เฟอร์นิเจอร์ ต้องเร่งปรับตัวจากปัจจัยเชิงลบของหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้กำลังซื้อลดลง รวมทั้งสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ บั่นทอนให้การผลิตรองรับการบริโภคชะลอตัว ขณะเดียวกันผลกระทบจากสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่ทะลักเข้าไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ อุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ยังคงเป็นปัจจัยกดดันที่ภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังเผชิญ

“ปี 68 อุตสาหกรรมดาวเด่นได้รับปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและบรรยากาศการค้าโลก ขณะที่บางอุตสาหกรรมต้องเร่งปรับตัว เนื่องจากเผชิญกับความท้าทายต่อการปรับตัวให้ทันต่อเทรนด์โลกและการแข่งขันที่สูงขึ้น ทั้งนี้ เพื่อรักษาขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก ผู้ประกอบการควรปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยยกระดับผลิตภาพการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นและการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อทดแทนการนำเข้าและก้าวทันการเปลี่ยนแปลงในตลาดโลก” นายภาสกร กล่าว

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
กลับไปด้านบน
©ลิขสิทธิ์ 2009-2020 อ่าวไทย [อ่าวไทย]      ติดต่อเรา   SiteMap