แฉผู้อยู่เบื้องหลัง! จับตาตร.ไซเบอร์ พุ่งเป้า “3 Account อวตาร” รับงานปล่อยข่าวโจมตี-กล่าวหา “กลุ่มผู้บริหารปตท.” ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ หวังดิสเครดิตผู้บริหารในปัจจุบัน เตรียมเอาผิดข้อหาหนัก
เมื่อวันที่ 28 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จทางโลกออนไลน์ เกี่ยวกับประเด็นที่แอบอ้างว่า “DSI สรุปสำนวน เชื่อว่าผู้ว่าฯปตท.และ CEO OR เข้าข่ายทุจริต ผิดพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ,ฟอกเงิน และฉ้อโกงประชาชน” ซึ่งเนื้อหาของข่าวดังกล่าว เป็นการระบุแบบคลุมเครือ ไม่ได้มีการระบุชื่อตัวบุคคลอย่างเป็นทางการ แต่เป็นการอ้างตำแหน่ง เพื่อสร้างความเข้าใจผิดให้กับบุคคลทั่วไปที่รับข่าวสารทางโลกสังคมออนไลน์ อีกทั้งยังมีการรวบรวมหลายประเด็นที่เกิดขึ้นใน “อดีต” แล้วนำมาร้อยเรียงรวมกันแบบเหวี่ยงแห โดยมีเป้าหมายเพื่อมุ่งทำลายตัวบุคคลที่ยังอยู่ในตำแหน่งปัจจุบัน ซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องทุจริต อื้อฉาวใน “อดีต” แต่อย่างใด
ความคืบหน้าในเรื่องนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีการสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ (ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ : ศปอส.ตร.) ถึงกรณีการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จดังกล่าวนี้ ทำให้ทราบว่า เบื้องต้นได้ตรวจสอบ Account ที่มีการโพสต์ประเด็นดังกล่าว ไปยังกลุ่มต่างๆ ซึ่งมีจำนวนการโพสต์ ดังนี้
-ราชสมัคร xxx จำนวน 4 โพสต์
-ออสติน พระxxxxxx จำนวน 2 โพสต์
-Tom Srixxx จำนวน 1 โพสต์
และเมื่อได้ตรวจสอบพฤติกรรมของ Account ทั้งหมด พบว่า Account ดังกล่าว ได้มีการทิ้งระยะห่างเวลาในการโพสต์ไม่เกิน 2 ชั่วโมง เน้นไปที่ “กลุ่มการเมือง” ที่เปิดเป็นสาธารณะ อีกทั้งยังมีการใช้รูปภาพและเนื้อหาเดียวกันทั้งหมด ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า
1.Account : ราชสมัคร xxx โพสต์ประเด็นดังกล่าวในลักษณะเดียวกันนี้ จำนวนทั้งสิ้น 4 กลุ่ม ซึ่งที่ผ่านมา หน้าโปรไฟล์มักแชร์ข่าวเกี่ยวกับ “การออม/การเงิน/การลงทุน”
2.Account : ออสติน พระxxxxxx และ Tom Srixxxx มีการเข้าร่วมกลุ่ม และโพสต์ประเด็นดังกล่าวร่วมกัน
3.ทั้ง 3 Account ไม่ใช้รูปตนเอง และตั้งรูปโปรไฟล์เป็นรูปรถ,รูปการ์ตูน และรูปสัตว์ทะเล
ทั้งนี้จากการตรวจสอบในเชิงลึกพบว่า กลุ่มบุคคลที่อยู่เบื้องหลังการปล่อยข่าวเท็จ-ข่าวปลอมในเรื่องนี้ คือกลุ่มบุคคลกลุ่มที่มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับกรณีทุจริตปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซีย ซึ่งขณะนี้เรื่องอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้ว และบุคคลกลุ่มเดียวกันนี้ ยังเกี่ยวข้องกับกรณี “สต๊อกลม” ของ GGC มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท บางคดียังคงอยู่ในกระบวนการสอบสวน ซึ่งดำเนินไปอย่างล่าช้าในหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ขณะที่บางคดี ศาลได้มีคำพิพากษาแล้วว่า อดีตผู้บริหารของ GGC และผู้ค้า “ร่วมกันกระทำความผิด” ในกรณีดังกล่าว
ที่ผ่านมา ยังพบว่า บุคคลกลุ่มดังกล่าว มีพฤติกรรมแสวงหาผลประโยชน์จากการขายไบโอดีเซลให้กับกลุ่ม ปตท. ในราคาที่สูงกว่าปกติ แต่ผู้บริหาร ปตท.ในปัจจุบัน ได้ดำเนินมาตรการป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวอีก เช่น การปฏิเสธการฮั้วประมูลไบโอดีเซล รวมถึงการเร่งรัดกระบวนการพิจารณาคดีในกรณี “สต๊อกลม” ทำให้บุคคลกลุ่มดังกล่าว ซึ่งเกี่ยวข้องกับกรณีทุจริตปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซีย ได้ดำเนินการตอบโต้ มีการใช้ “ทนายความ” ดำเนินการในรูปแบบต่างๆ
รวมถึงการเข้าซื้อหุ้นในกลุ่ม ปตท. จำนวน 100 หุ้น โดยที่ไม่มีประวัติการลงทุนในตลาดหุ้นมาก่อน จากนั้นได้มีการยื่นข้อร้องเรียนต่อหน่วยงานต่างๆ โดยเน้นมาที่ “ผู้บริหาร ปตท.ในปัจจุบัน” ที่มีบทบาทในการดำเนินมาตรการป้องกันดังกล่าว ประกอบกับข้อร้องเรียนที่ได้มีการยื่นมา โดยอ้างสถานะการเป็นผู้ถือหุ้น แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายแห่งได้ดำเนินการตรวจสอบแล้ว และ “ไม่พบข้อบกพร่อง” หรือ “ประเด็นที่มีมูลความผิด” ตามที่มีการร้องเรียนแต่อย่างใด
ในเรื่องนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ ได้แจ้งว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 นั้น ระบุไว้ชัดเจนว่า
1.การกด Like ฐานข้อมูลหรือข้อมูลที่มีผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ และความมั่นคง เสี่ยงเข้าข่ายความผิดมาตรา 112 หรือมีความผิดร่วม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี
2.การกด Share ข้อมูลที่มีความผิดโดยไม่ไตร่ตรองก่อน ถือเป็นการเผยแพร่ หากข้อมูลที่แชร์มีผลกระทบต่อผู้อื่น อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยเฉพาะที่กระทบต่อบุคคลที่ 3 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี
3.การเป็นแอดมินเพจ ที่มีการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จดังกล่าว มีความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างชัดเจน ถือเป็นความผิดมาตรา 14 โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
4.การโพสต์ด่าว่าผู้อื่น โดยเฉพาะการใส่ข้อความ รูปภาพ อันเป็นเท็จ ไม่เป็นความจริง ถือเป็นการละเมิดสิทธิ จะถูกฟ้องร้องดำเนินคดี เพราะถือเป็นความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท