ล่าสุด

ลิงค์ที่เป็นมิตร

“พิชัย” จับมือทูตญี่ปุ่น เร่งดึงลงทุนอุตสาหกรรมดิจิทัล-ยานยนต์แห่งอนาคต

2025-01-11     IDOPRESS

“พิชัย” หารือทูตญี่ปุ่น ดึงนักลงทุนเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมอนาคต ยานยนต์-ดิจิทัล เร่งปิดดีล FTA ขยายตลาดส่งออก

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย (นายโอตากะ มาซาโตะ) เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2568 ณ กระทรวงพาณิชย์ โดยตนรู้สึกดีใจที่นักลงทุนญี่ปุ่นจำนวนมากกลับเข้าสู่ไทย และญี่ปุ่นมีการลงทุนเป็นอันดับ 1 อย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ลดการลงทุนในไทย ภายหลังการรัฐประหารปี 2557 ไปร่วมทศวรรษ การได้พบกับท่านทูตมาซาโตะ เป็นการช่วยกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน รวมถึงได้ฝากให้ช่วยดึงดูดนักลงทุนญี่ปุ่นให้ขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ญี่ปุ่นมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น อาทิ ยานยนต์ยุคใหม่ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ AI ดาต้าเซ็นเตอร์ ดิจิทัล แผงวงจรพิมพ์ (PCB) การแพทย์และเทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ทั้งได้สานต่อการเจรจา หลังตนได้เยือนญี่ปุ่น ดึงนักลงทุนและหารือกับผู้นำระดับสูงของรัฐบาลญี่ปุ่น ในช่วงปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พร้อมทั้งให้คำมั่นที่จะขยายตลาดการส่งออกผ่าน FTA ในกลุ่มประเทศที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออกต่อไป

นายพิชัย กล่าวว่า ไทยมุ่งหวังเป็นศูนย์กลางสำหรับการค้าและการลงทุน เป็นฐานการผลิตในห่วงโซ่อุปทานสมัยใหม่ และการผลิตสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ในวันนี้ ตนจึงได้เชิญชวนนักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาขยายการลงทุนในไทยเพิ่มเติมในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งยานยนต์สันดาปและยานยนต์ยุคใหม่ รวมทั้งอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ญี่ปุ่นมีศักยภาพ อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ AI ดาต้าเซ็นเตอร์ดิจิทัล แผงวงจรพิมพ์ (PCB) การแพทย์และเทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีหุ่นยนต์ โดยที่ผ่านมา ญี่ปุ่นยังเป็นนักลงทุนต่างชาติกลุ่มแรกที่เข้ามาลงทุนขนาดใหญ่ในไทยและมีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานอุตสาหกรรมของไทย 

และวันนี้ตนยังได้มีโอกาสหารือกับ นายกลินท์ สารสิน ประธานคณะกรรมการบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และนายโนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และคณะ เพื่อความร่วมมือในการขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐกับเอกชนให้ไทยเป็นผู้นำด้านการผลิตยานยนต์ของอาเซียนโดยภาคเอกชนฝากการบ้านให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยขยายตลาดการส่งออกผ่าน FTA ในกลุ่มประเทศที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออก เช่น กลุ่มประเทศอาหรับ รวมทั้งการเจรจา FTA ไทย-อียู ซึ่งถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง ซึ่งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้เร่งเจรจา เพื่อปิดจบ FTA ฉบับต่างๆ อย่างต่อเนื่อง 

“เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ตนได้เดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่น ได้หารือกับ H.E. Mr. HAYASHI Yoshimasa เลขาฯ ครม. ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงในรัฐบาลญี่ปุ่น และ Mr.Taro KONO สส.จังหวัดคานางาวะ อดีตรัฐมนตรีดิจิทัลของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นนักการเมืองที่มีบทบาทสำคัญในญี่ปุ่น ประเด็นความร่วมมือในอุตสาหกรรมใหม่ ที่ญี่ปุ่นกำลังสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของญี่ปุ่นในช่วง 10 ปีข้างหน้า โดยทุ่มงบประมาณมากกว่า 10 ล้านล้านเยน (2.2 ล้านล้านบาท) เพื่อให้ไทยได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในซัพพลายเชนของญี่ปุ่น และได้มีโอกาสพบหารือกับภาคเอกชนรายใหญ่ของญี่ปุ่นหลายราย เช่น บริษัท NTT Corporation บริษัท TOYOTA TSUSHO บริษัท GS Yuasa International บริษัท Hitachi และบริษัท Mitsubishi Electric Corporation เพื่อเชิญชวนขยายการลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น โดยตนพร้อมสนับสนุนการลงทุนของญี่ปุ่นและอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนใหม่ในไทยอีกกว่า 2-3 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ไทยอยู่ระหว่างการเจรจา FTA กับอีกหลายประเทศ ซึ่งจะทำให้เป็นประโยชน์ต่อบริษัทญี่ปุ่นที่ดำเนินธุรกิจในไทย” พิชัย กล่าว

นายพิชัย เสริมว่า ไทยและญี่ปุ่นมีความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างกันอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง โดยล่าสุด สับปะรดห้วยมุ่นของไทยได้รับขึ้นทะเบียนสินค้า GI ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสินค้ารายการที่ 3 ต่อจากกาแฟดอยช้างและกาแฟดอยตุง ภายใต้ความร่วมมือแลกเปลี่ยนการขึ้นทะเบียน GI 3 + 3 นอกจากนี้ ตนยังได้แสดงความพร้อมที่กระทรวงพาณิชย์จะมีส่วนร่วมในงาน EXPO 2025 Osaka Kansai ที่ญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 13 เมษายน-13 ตุลาคม 2568 โดยจะมีการจัดThailand Pavilion นำเสนอศักยภาพของไทยผสมผสานระหว่างการแพทย์สมัยใหม่และการแพทย์แผนไทย การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ รวมถึงสินค้าสมุนไพร เครื่องสำอาง และสปา ซึ่งเป็นการส่งเสริม soft power ไทยสู่สากล

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทย โดยในช่วง 11 เดือนของปี 2567 (มกราคม-พฤศจิกายน) มีมูลค่าการค้ารวม 48,093.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นการส่งออกของไทยไปยังญี่ปุ่นมูลค่า 21,545.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ของเครื่องจักรกล และเคมีภัณฑ์ และการนำเข้าของไทยจากญี่ปุ่นมูลค่า 26,547.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสินค้านำเข้าสำคัญได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และแผงวงจรไฟฟ้า

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
กลับไปด้านบน
©ลิขสิทธิ์ 2009-2020 อ่าวไทย [อ่าวไทย]      ติดต่อเรา   SiteMap