ล่าสุด

ลิงค์ที่เป็นมิตร

ยุ ‘กพช.’สั่งแก้สัญญาทาสโรงไฟฟ้า กดค่าไฟ 17 สต. เชื่อทำได้!! ประหยัดปีละ 3.3 หมื่นล้าน

2025-02-19     IDOPRESS

บอร์ด กพ. เชื่อกดค่าไฟลง 17 สต. ทำได้ ยุ กพช. สั่งรื้อสัญญาทาสโรงไฟฟ้า รับซื้อแพงตราบฟ้าดินสลาย ให้คำนวณตามต้นทุนจริง ชี้เอกชนได้กำไรคุ้มต้นทุนมาอื้อแล้ว ย้ำทำได้ ก.ม.ปกครองคุ้มครองมหาชน เหนือสิทธิสัญญา ช่วยประชาชนประหยัดปีละ 3.3 หมื่นล้านบาท

นายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยถึงกรณีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ระบุแนวทางการปรับลดค่าไฟหน่วยละ 17 สตางค์ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานที่เสนอให้ทบทวนเงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (เอสพีพี) และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (วีเอสพีพี) ซึ่งได้รับการต่อสัญญาและให้ได้รับการอุดหนุนส่วนต่างต้นทุน (แอดเดอร์) และมาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (เอฟไอที) จากผู้ผลิตไฟฟ้า ไม่สามารถทำได้ พร้อมกับเปรียบเทียบว่าเป็นสัญญาชั่วนิรันดร์ หากยกเลิกจะถูกเอกชนฟ้องร้อง ว่า ผมพูดในนามส่วนตัว ยืนยันว่า กกพ. ทำให้ลดค่าไฟฟ้าลดลงหน่วยละ 17 สตางค์ได้ โดยให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ออกมติทบทวนการต่ออายุโครงการที่ต่ออายุสัญญาทุก 5 ปี ให้คำนวณอัตราสะท้อนข้อเท็จจริง โดยให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เป็นหน่วยงานกลางในการคำนวณ เช่น สนพ. คำนวณราคาปี 65 ราคาโซลาร์อยู่ที่หน่วยละ 2.1679 บาท ราคาพลังงานลมเหลือ 3.10 บาท ซึ่งรัฐสามารถทำได้ตามกฎหมายปกครอง ที่ให้คุ้มครองผลประโยชน์ของมหาชน มีสิทธิเหนือกว่าสัญญา

“สัญญาเดิมเป็นสัญญาทาสชั่วฟ้าดินสลายที่ทำมาตั้งแต่ปี 51 ช่วงนั้นที่ต้องประกาศราคารับซื้อราคาสูง เพราะราคาอุปกรณ์ต่างๆ ในการผลิตไฟฟ้าสีเขียวราคาสูง ต้องการจูงใจให้เอกชนเข้าร่วมโครงการ จึงรับซื้อในราคาสูงประมาณหน่วยละ 9-12 บาท ซึ่งจะมีการต่ออายุทุก 5 ปี ตอนนี้ผู้ประกอบการกลุ่มนั้นราคารับซื้อจะอยู่ที่ประมาณหน่วยละ 4 บาทนิดๆ เป็นราคาขายส่งหน่วยละ 3.29 บาท บวกค่าเอฟที 90 สตางค์กว่าๆ ก็ยังแพงอยู่ดี เพราะต้นทุนที่ สนพ. คำนวณมาราคาหน่วยละ 2.16 บาทเท่านั้น ซึ่งเอกชนกลุ่มดังกล่าวคืนทุนหมดแล้ว ได้กำไรไปเยอะแล้ว จึงเห็นควรต้องทบทวนที่ต้องต่ออายุสัญญาทุก 5 ปี ไม่มีประเทศไหนเขาทำสัญญาทาสแบบนี้ หาก กพช. กำหนดนโยบายปรับค่าไฟฟ้ารับซื้อในส่วนนี้ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง จะช่วยลดค่าไฟฟ้าได้ทันทีหน่วยละ 17 สตางค์ เช่น หากค่าไฟฟ้าหน่วยละ 4.15 บาท จะเหลือหน่วยละ 3.89 บาท จากประมาณการตลอดทั้งปี 68 คาดว่า จะมีการใช้ไฟฟ้า 195,000 ล้านหน่วย หากลดได้หน่วยละ 17 สตางค์ ประชาชนจะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 33,150 ล้านบาท”

ทั้งนี้ที่ผ่านมาก กพ. มีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มาตรา 65 ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และคำนึงถึงผลตอบแทนที่เหมาะสมของการลงทุนของการประกอบกิจการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ จึงมีมติตั้งแต่เดือน ต.ค. 65 เสนอความเห็นต่อ รมว.พลังงาน ขอให้ฝ่ายนโยบายจัดการกับต้นทุนค่าไฟฟ้าในส่วนค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐ (โพลิซี เอ็กซ์เพน) ทั้งโครงการแอดดอร์ และเอฟไอที เนื่องจากมองว่า ต้นทุนทั้ง 2 ประเภท ขณะนี้ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง สูงเกินจริงไป มีต้นทุนการรับซื้อไฟฟ้าสูงกว่าราคาต้นทุนจริงในภาวะปัจจุบัน และโครงการผลิตไฟฟ้าแบบแอดเดอร์ดังกล่าว ไม่มีวันสิ้นสุดสัญญา ส่งผลให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าโดยไม่จำเป็น

“ถ้านายทุนฟ้องรัฐบาล ผมพร้อมจะสู้ ผมขอฝากให้กำลังใจท่านรัฐมนตรี อย่าท้อถอย ผมรู้ว่า ท่านตั้งใจทำงาน เรื่องสัญญาทาสอยากให้แก้จริงๆ นายทุนได้ไปพอสมควรแล้ว ควรต้องกลับมาคำนวณตามต้นทุนแท้จริงได้แล้ว” นายวรวิทย์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียน ที่ได้รับการสนับสนุนจากภารัฐในรูปแบบแอดเดอร์ และเอฟไอที มีประมาณ 500 กว่าแห่ง ประมาณ 4,000 เมกะวัตต์ เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ได้รับแอดเดอร์ ที่อัตราหน่วยละ 8 บาท ระยะเวลา 10 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 54 สิ้นสุดปี 65,โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ได้รับแอดเดอร์ ที่อัตราหน่วยละ 6.50 บาท ระยะเวลา 10 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 56 สิ้นสุดปี 69,โรงไฟฟ้าพลังงานลม ได้รับแอดเดอร์ ที่อัตราหน่วยละ 3.50 บาท ระยะเวลา 10 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 55 สิ้นสุดปี 72,โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ ได้รับแอดเดอร์ ที่อัตราหน่วยละ 3.50 บาทระยะเวลา 7 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 58 สิ้นสุดปี 68,โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้รับการอุดหนุนแบบเอฟไอที อัตราคงที่หน่วยละ 5.66 บาทต่อหน่วย (ตลอดอายุสัญญา) เริ่มตั้งแต่ปี 58 สิ้นสุดปี  83

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
กลับไปด้านบน
©ลิขสิทธิ์ 2009-2020 อ่าวไทย [อ่าวไทย]      ติดต่อเรา   SiteMap