ล่าสุด

ลิงค์ที่เป็นมิตร

รอลุ้น! 26 ก.พ.นี้ แบงก์ชาติลดดอกเบี้ย กว่าจะเห็นผลใช้เวลา 6-12 เดือน

2025-02-20     HaiPress

ดร.อมรเทพ คาดแบงก์ชาติลดดอกเบี้ยเหลือ 1.50% ในปีนี้ ประเดิม 26 ก.พ.ครั้งแรกของปี ชี้ใช้เวลาเห็นผลทางเศรษฐกิจ 6-12 เดือน

วันที่ 20 ก.พ. นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ประเมินการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันที่ 26 ก.พ.นี้ว่าจะมีมติลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 2% จากความเสี่ยงมากขึ้นทั้งเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าคาด มีความไม่แน่นอนด้านกำลังซื้อแม้มีมาตรการภาครัฐกระตุ้น,เงินเฟ้อเสี่ยงไม่ถึงกรอบล่างที่ 1% ทั้งจากกำลังซื้อคนในประเทศที่ยังอ่อนแอจนผู้ประกอบการไม่สามารถส่งผ่านต้นทุนที่ขยับสูงขึ้นให้ผู้บริโภคได้

นอกจากนี้ กำลังซื้อครัวเรือนรายได้น้อยและเอสเอ็มอีอ่อนแอ ลามไปกระทบธุรกิจขนาดใหญ่,ป้องกันความเสี่ยงจากสงครามการค้า น่าจะมีความชัดเจนและรุนแรงในช่วงครึ่งหลังของปี รวมทั้งมีการตอบโต้จากประเทศที่สหรัฐตั้งกำแพงภาษี จนอาจทำให้การค้าโลกอ่อนแอลง จนกระทบภาคการผลิต การจ้างงาน การส่งออกและการบริโภคในประเทศ ซึ่งอาจต้องอาศัยมาตรการป้องกันผลกระทบหรือลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจจากมาตรการที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

ขณะที่ค่าเงินบาทยังมีทิศทางแข็งค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐนับจากต้นปี แม้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะแข็งค่าเทียบสกุลสำคัญๆ และสกุลอื่นในภูมิภาคเอเชีย จนทำให้เงินบาทดูจะแข็งค่าเทียบสกุลคู่ค้าอื่นจนทำให้ไทยเสียความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออก ซึ่งหากจะใช้มาตรการทางการเงินด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยลง ก็พอจะช่วยลดความน่าสนใจในการลงทุนสกุลเงินบาท โดยเฉพาะในตลาดตราสารหนี้ ซึ่งพอจะช่วยให้เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าเทียบสกุลอื่นได้บ้าง

ทั้งนี้ในส่วน กนง. น่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 1.50% ในช่วงปลายปีนี้ โดย กนง.เหลือการประชุมอีก 5 นัด คือ วันที่ 30 เม.ย. จะคงดอกเบี้ยเพื่อรอดูความชัดเจนและประสิทธิผลของการลดดอกเบี้ย,วันที่ 25 มิ.ย. ลดดอกเบี้ยเหลือ 1.75% หลังสภาพัฒน์จะรายงานจีดีพีไตรมาสแรกปีนี้,วันที่ 13 ส.ค. ลดเหลือ 1.50% เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจหลังสงครามการค้าชัดเจนว่าไทยได้รับผลกระทบผ่านการส่งออกที่โตต่ำลง และคงดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งที่เหลือคือวันที่ 8 ต.ค. และวันที่ 17 ธ.ค. 68

“หลายสำนักคาดว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้ ซึ่งในความเป็นจริงก็น่าเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยที่สุด เนื่องจากยังไม่มีสัญญาณใด ๆ จาก ธปท. ถึงความจำเป็นในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อีกทั้งยังมีการย้ำถึงการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายหรือเก็บกระสุนไว้ใช้ยามจำเป็น แต่ส่วนตัวมองว่า กนง.น่าจะทบทวนปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนไปจากการประชุมครั้งก่อน และจากทิศทางตัวเลขเศรษฐกิจและตลาดการเงินในอนาคต จนน่าจะสนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในรอบเดือน ก.พ.นี้”

อย่างไรก็ตาม แม้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจาก ธปท.จะส่งผ่านถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ในเวลาไม่นาน แต่กว่าการลดอัตราดอกเบี้ยจะสร้างแรงจูงใจให้คนมาลงทุนเพิ่มขึ้น เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ เกิดการผลิตสินค้าและบริการ จนเกิดเงินหมุนเวียนผ่านการบริโภคที่เพิ่มขึ้น หรือส่งผ่านกลไกอัตราแลกเปลี่ยนและราคาสินค้าต่าง ๆ ยังต้องใช้เวลา 6-12 เดือน ซึ่งก็อาจเห็นผลทางเศรษฐกิจมากขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 3-4

“นโยบายการเงินไม่ใช่พระเอก แต่ต้องเป็นการประสานกับนโยบายการคลังที่ดูแลด้านความเหลื่อมล้ำและมาตรการอื่น ๆ ในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เพื่อฟื้นเศรษฐกิจไทยในปีนี้และยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้สูงขึ้นในระยะยาวอย่างยั่งยืน”

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
กลับไปด้านบน
©ลิขสิทธิ์ 2009-2020 อ่าวไทย [อ่าวไทย]      ติดต่อเรา   SiteMap