ครม.ไฟเขียว “ไทยแลนด์ดิจิทัลโทเคน” หรือ G Token ทางเลือกใหม่ในการระดมทุนของรัฐบาล เบื้องต้น วงเงิน 5,000 ล้านบาทเปิดช่องให้รายเล็กลงทุนได้ คาดออกได้ภายใน 1-2 เดือน พร้อมยืนยัน ไม่ใช่ Digital Payment ย้ำเป็นการเพิ่มทางเลือกในการลงทุนของประชาชน
🔊 ฟังข่าว
⏸️ หยุดชั่วคราว
🔄 เริ่มใหม่
วันที่ 13 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ “ไทยแลนด์ดิจิทัลโทเคน” หรือ G Token ซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางการออมการลงทุนให้กับประชาชนใหม่ โดยการเพิ่มช่องทางการระดมทุนของรัฐบาล ซึ่งเบื้องต้นกำหนดวงเงินประมาณบวกลบ 5,000 ล้านบาท ซึ่งยืนยันว่า จะเป็นการเพิ่มการเข้าถึงการลงทุนของประชาชนมากขึ้น
สำหรับ ไทยแลนด์ดิจิทัลโทเคน ผู้ถือหน่วยลงทุน หรือ ผู้ถือเครื่องมือการลงทุนนี้ จะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนโดยการฝากเงินทั่วไป และถือเป็นส่วนหนึ่งของหนี้สาธารณะ ไม่ได้เป็นการพิมพ์เงินใหม่ทั้งสิ้น และไม่ได้เป็นประเภทคริปโตเคอเรนซี่อย่างแน่นอน
ด้านข้อดี คือ ประชาชนสามารถลงทุนในสัดส่วนที่น้อย โดยอยู่ในรูปแบบดิจิทัล ดังนั้นจึงสามารถลงทุนได้ตั้งแต่หลักร้อยบาทเป็นต้นไป และสามารถทำให้รัฐบาลสามารถขยายฐานการลงทุนได้ เนื่องจากผู้ที่มีความสามารถในการลงทุนน้อยจะเข้าถึงรูปแบบการลงทุนดังกล่าวได้ จึงถือเป็นทางเลือกมากขึ้นให้กับประชาชน และเป็นการวางรากฐานนวัตกรรม Digital Economy ด้วย
อย่างไรก็ตาม รูปแบบการลงทุนดังกล่าว เข้าข่ายเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลชนิดหนึ่ง ดังนั้นในอนาคต หากมีเครื่องมือการระดมทุน จะสามารถเข้าไปเทรดใน ดิจิทัล เอ็กซ์เชนจ์ได้ และได้ผลตอบแทนที่มั่นคงและสม่ำเสมอ
ข้อสังเกตของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยืนยันว่า รับมาพิจารณาทั้งหมด และยืนยันว่า ไม่ได้เป็น Digital payment และไม่เป็นตัวชำระสินค้า รวมถึงออกมาในสัดส่วนที่เหมาะสม และรายย่อยสามารถเข้าไปถือได้
“โดยปกติแล้วสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) มีหน้าที่ในการออกตราสารหนี้ พันธบัตรรัฐบาล ในการระดมเงิน ในส่วนที่ขาดดุล และมีการออกบัตรให้สถาบัน ให้ประชาชน ซึ่งเป็นช่องทางที่ดำเนินการมาอยู่แล้ว และคิดว่า สามารถที่จะทำช่องทางใหม่ เพิ่มทางเลือกในการลงทุนใหม่ๆ เพิ่มเติมจึงเป็นที่มาในการออก ไทยแลนด์ดิจิทัลโทเคน” นายพิชัย กล่าว
นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการ สบน. กล่าวว่า คาดว่าจะสามารถออกได้ครั้งแค่ภายใน 1-2 เดือนนี้ และอยู่ภายใต้การกำกับของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ด้วย ส่วนช่องทางการซื้อนั้น จะมีความคล้ายกับการซื้อพันธบัตรรัฐบาลเหมือนที่ผ่านมา โดยการผ่านสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งประชาชนจะสามารถเข้าถึงได้ง่าย สะดวก และมีความปลอดภัย